วันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

(รีวิว) Bridge of Spies (2015) - จารชน เจรจาทมิฬ




Bridge of Spies (2015)

วันก่อนมีโอกาสดูหนังเรื่อง Bridge of Spies  -  จารชน เจรจาทมิฬ 
ทำให้นึกถึง Saving Private Ryan (1998) ซึ่งเป็นธีมภาระกิจ
ช่วยตัวประกันเหมือนกัน  ผู้กำกับคนเดียวกัน (สวีเวน สปีลเบิร์ก)
และพระเอกยังคนเดียวกันอีกด้วย (ทอม แฮงค์)
ด้วยระยะเวลา  ที่ห่างกันถึง 17 ปี



Bridge of Spies  นั้นกล่าวถึงการแลกเปลี่ยนตัวประกัน
ที่ลอบเข้ามาเป็นสปายหาข่าวในประเทศ  เมื่อสปายรัสเซีย
ถูกจับได้ในสหรัฐ และด้วยความที่ขึ้นชื่อว่าเป็น
ประเทศประชาธิปไตย  จึงจำที่จะต้องหาทนายมาแก้ต่าง
ให้สปายสายรัสเซีย  เพื่อที่จะได้ไม่เป็นข้อครหา
( ทำนองรังแกเขาฝ่ายเดียว  เดี๋ยวไม่เป็นสุภาพบุรุษ ..^^)

และแม้จะขู่  บังคับ  ชักชวน  ให้สปายมาเป็นพวก
เพื่อหวังให้คายความลับ แต่สปายสายรัสเซียคนนี้
กลับรักชาติยิ่งชีพ  ไม่แม้แต่จะร้องขอความเห็นใจ
นอกจาก บุหรี่ สี และพู่กัน

ทำให้ทนายแก้ต่าง (ทอม แฮงค์) ที่มาขัดตาทัพให้แบบ
พอเป็นพิธี  เมื่อได้เห็นส่วนลึกการรักชาติ ด้วยทีท่าสงบ
รับรู้ และยอมรับในชะตากรรมเมื่อถูกจับ 

จากที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก  ก็เกิดจริงจัง
และตั้งใจอยากให้เสปายคนนี้พ้นโทษตายในประเทศ

แต่จรรยาบรรณวิชาชีพ ที่เกิดขึ้นนั้นต้องแลกมากับ
สายตาของคนในชาติ  ที่มองด้วยความอาฆาต
และประนามในการว่าความให้กับ “ศัตรู”
ผู้มาล้วงความลับของชาติ

*** เริ่มสปอย  ตั้งแต่บรรทัดถัดไป  ถ้าสนใจจะหามาดู
หยุดก่อนตรงนี้  เพื่ออรรถรสในการชมเต็มๆ เรื่องนะคะ ***

ประเด็นของหนังน่าสนใจ  ตรงข้อเสนอของทนายต่ออัยการ
ให้ละเว้นโทษประหาร

 “ใต้เท้า.. สปายที่เราจับได้นั้น  ท่านแน่ใจได้อย่างไรว่า 
สปายของเราจะไม่เพลี่ยงพล้ำโดนจับบ้าง?

เมื่อถึงเวลานั้น ...

เขาจะมีประโยชน์ต่อการแลกตัวประกัน
ที่เราเอง  ก็ไม่อยากให้ถูกคายความลับเช่นกัน”

อัยการยอมถอย 1 ก้าว ในเงื่อนไขที่อาจเป็นไปได้ในที่สุด

และในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามเย็นนี่เอง
เหตุการ์ณแลกตัวประกัน  ก็เกิดขึ้นดังคาด

เมื่อสปายสหรัฐ  ที่ถูกส่งให้ขับเครื่องบิน
ขึ้นไปสอดแนบ  โดยการแอบถ่ายรูปถูกจับได้
FBI ไม่กล้าออกหน้า  จึงต้องวิ่งหาทนายให้เจรจา
เพราะถ้าล้มเหลวกลับมา เบื้องหน้าคือ รัฐบาล
จะไม่มีความเกี่ยวข้อง  แต่เบื้องหลังผลักดันถึงขั้น
ออกหนังสือส่งข้ามแดน  ไปเปิดเวทีเจรจา

ปฎิบัติการ  ใช้ชีวิตแลกชีวิต  ที่ลึกแต่ไม่ลับจึงเกิดขึ้น
การเสี่ยงเพื่อให้ชีวิต  กับเส้นแบ่งศีลธรรมบางๆ ในใจ
ว่าใครจะกล้าให้มากกว่ากัน 

บทหนังสร้างเงื่อนไขของการเดินเรื่องไปสู่การเจรจา
ด้วยคำถามที่ว่า... การเป็นสปายบาปร้ายแค่ไหน?
คนๆ นั้นสมควรตายเมื่อถูกจับได้ใช่หรือไม่?

และ

ถ้าใช่ ... แล้วเหตุใด  เราถึงได้สร้างสปาย
ส่งเข้าไปในประเทศอื่นเช่นกัน?

รวมทั้งประเด็นของ “การเสียสละ“ และ “การให้”
ที่หยิบมาใช้อีกครั้ง หลังจากใช้กับ Saving Private Ryan
ไปแล้วเช่นกัน  เมื่อ  17 ปีที่ผ่านมา



บทหนังยังแทรกสัจจะธรรมเล็กๆ ไว้ แบบลึกๆ
ตรงบทพูดของสปายรัสเซียประโยคหนึ่ง
ที่หนังย้ำหลายครั้ง เมื่อเขาถูกจับได้  ถูกขัง 
และต้องทนฟังคำด่าประนาม  รวมถึง
การต้องยอมรับโทษประหาร

ทุกครั้งที่ทนายเอ่ยถามด้วยความประหลาดใจ
ในท่าทีที่สงบนิ่ง  และเยือกเย็นของสปายว่า
“คุณไม่กลัวบ้างหรือ?” / “ทำไมคุณไม่พูดอะไรบ้าง?”
เขาจะตอบกลับมาด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า

--- แล้วมันช่วยอะไรได้หรือ? Wound it help? ---

มันใช่จริงๆ เพราะบางครั้ง  และในบางเวลา
เราเดือดเนื้อร้อนใจ บ่นพร่ำรำพรรณถึงชะตากรรมที่ได้
ในเหตุการ์ณที่ผ่านมาแล้ว  และในข้อผิดพลาดที่ไม่อาจหวนคืน

ซึ่งมัน... หาช่วยอันใดให้เราผ่านพ้นสถานการ์ณที่อยู่ตรงหน้า
ได้ดียิ่งกว่าการยอมรับ  และเผชิญหน้ากับความจริง

อีกประเด็นที่หนังใช้บทพูดเข้ามาเล่นกับ “จิตใจ”
จิตเป็นนาย  กายเป็นบ่าว  คาถาสากลที่ใช้ได้ผลทั่วโลก

เมื่อสปายเล่าให้ทนายฟังว่า...
ตอนเขายังเด็กมีเพื่อนสนิทของพ่อคนหนึ่ง
ที่พ่อของเขา  บอกให้จับตามองเพื่อนคนนี้ไว้ให้ดีๆ
แล้วเอาเป็นเยี่ยงอย่าง  เมื่อ....

ครั้งหนึ่งมีนักเลงบุกเข้ามาซ้อมเพื่อนพ่อคนนี้จนล้มคว่ำ
แต่ทุกครั้งที่ล้ม  เขาจะกลับลุกยืนขึ้นใหม่ในทันที
ล้ม-ลุกยืน   ล้ม-ลุกยืน  ล้ม-ลุกยืน  อยู่อย่างนั้น นับครั้งไม่ถ้วน
ไม่ว่าเขาจะถูกซ้อมสะบักสะบอมแค่ไหน 
เขาก็จะตะเกียกตะกายลุกขึ้นยืนใหม่ทุกครั้ง

จนในที่สุด  นักเลงกลุ่มนั้นก็ไม่อาจทนชกเขาได้อีกต่อไป
ต่างทยอยล่าถอยกลับไปทีละคน  เพราะหมดสนุก
กับความดื้อ  อึด  และแสนถึกของเพื่อนพ่อคนนี้


ซึ่งบทสนทนาจากเรื่องเล่าย่อยๆ นี้
ยิงเข้าสู่ประเด็น  เรื่องการช่วยตัวประกันของทนาย

เมื่อเขาเข้าสู่เขตแดนการเจรา  ก็พบว่าฝ่ายตรงข้ามเล่นตุกติก 
กักนักศึกษาอเมริกันไว้ 1 คนตอนกั้นกำแพงเบอร์ลิน
เมื่อการเจรจาเปิดฉาก  ฝ่ายตรงข้ามพยายามสอดไส้นักศึกษา
แทนสายสอดแนมของสหรัฐ 

ทนายรู้ข่าวจาก FBI อยู่ก่อนแล้ว  ซ้ำ FBI ยังย้ำนักย้ำหนาว่า
ขอแค่ได้สายสอดแนมมาก็พอ  นักศึกษาไม่ต้องสนใจ
แต่ทนายไม่ยอม  เขาตลบหลังการเจราด้วยเงื่อนไข
2 ต่อ 1 พร้อมเดินหน้าเจรจากับเยอรัมันทั้ง 2 ฝั่ง

FBI  เดือดดาลต้องการแค่คนของตน
แต่เขาไม่สนใจ  ยื่นคำขาดว่าถ้าไม่ได้ 2 คน ก็ไม่แลก

เขาสู้แม้จะรู้ว่าเป็นรอง โดนตอกหน้า 
พยายามเล่นแง่ พลิกแพลงไปมาในเงื่อนไข
เขากล้าชน แม้จะรู้ว่าอาจโดนเด็ดหัวเมื่อไหร่ก็ได้
แต่เขาก็ยังเลือก  ที่จะกัดไม่ปล่อย 

ถ้าเขาถอดใจ  ยอมแพ้  ตั้งแต่การเจรจาครั้งแรก
ทั้ง 3 ชีวิต คงไม่มีโอกาส ได้ใช้ลมหายใจ
สร้างผลงานให้ชาติของตนได้นับจากวินาทีนั้น

การช่วยตัวประกันใน Bridge of Spies  กับ
Saving Private Ryan นั้น  ทิ้งคำถามเดียวกันว่า

 “ เมื่อมีผู้ให้ชีวิตคุณกลับคืนมา
คุณเห็นคุณค่า  และใช้มันให้สมราคาแค่ไหน?”

แล้วกับชีวิต  ที่ไม่ต้องร้องขอจากการเสียสละของใครล่ะ
เราให้ค่า... และเห็นราคาของมัน  ดีพอรึยัง? 
ณ. วันนี้

## พีขร์ (Peachii) ##

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น